Tuesday 14 November 2017

โรงเรียนอรพินฟาร์ม

วันเสาร์ที่ผ่านมา โชคดีมากที่ได้ไปหา พูดคุย และเป็นนักเรียนของพี่โด่งและพี่ปุ้มแห่งอรพินฟาร์ม
ได้เข้าไปแบบงงๆ เพราะคุยโทรศัพท์นัดกับคุณป้าท่านนึงไว้ แต่พอไปถึงกลับกลายเป็นคนหนุ่มหน้าตาใจดีแว้นมอไซมารับที่ปากทาง
แล้วพี่โด่งก็พาไปที่ฟาร์มอินทรีย์ที่พี่ปุ้มภรรยาและพี่โด่งปั้นขึ้นมาเองกับมือเมื่อหกปีที่แล้ว เราเลยขอฝากตัวเป็นนักเรียนซะเลย
พี่โด่งเป็นคนเชียงราย ได้พบรักกับพี่ปุ้ม(คนอุบล)ที่ กทม และตัดสินใจกลับมาทำนาที่อุบลกัน เมื่อประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้ว เพราะไม่อยากอยู่ห่างจากลูกสาวอายุ 2 ขวบ (ในตอนนั้น) ที่ฝากให้ตากับยายเลี้ยงที่อุบลฯ
พี่ทั้งสองเก็บเงินกลับมาได้จำนวนหนึ่ง
สองปีแรกทำนาแบบดั้งเดิม ทำปีละครั้ง ใช้เงินทุกขั้นตอน ทั้งใส่ปุ๋ยเคมี ใส่ยาฆ่าหญ้า รายได้ปีละครั้งไม่พอกับรายจ่ายที่ลงทุนกับนา และรายจ่ายรายวันที่ต้องกินต้องใช้
เงินเก็บมาจาก กทม ชักจะไม่เหลือ
ทำนาแบบเดิมยังไงก็ไม่พอกิน นี่คือสิ่งที่พี่เขาเรียนรู้
พอเริ่มเข้าปีที่สี่ พี่เขาเห็นสารคดีในโทรทัศน์เกี่ยวกับเกษตรผสมผสาน เลยค้นคว้าต่อในอินเตอร์เน็ต ตอนนั้นมีแต่เน็ตมือถือ แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรค
พี่โด่งและพี่ปุ้ม หาความรู้จากอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ แล้วก็ลงมือทำเลย ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่เคยทำมาก่อนเหมือนกัน
พี่เขาลงทุนกับความรู้นะ ขายควายไป 1 ตัว เพื่อซื้อ tablet มาไว้ search หาข้อมูล และติดต่อค้าขาย
หาความรู้ แล้วลงมือทำ
ขุดบ่อ แบ่งพื้นที่ ปลูกพืชหลากหลาย ให้มีรายได้เข้าหลายทาง เริ่มเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู และทำอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง ที่เพิ่มรายได้ ให้เข้ามาในเวลาต่าง ๆ กัน ไม่ใช่รอรายได้จากข้าวเพียงอย่างเดียว ครั้งเดียวต่อปี
ลดต้นทุน เลิกใช้สารเคมี ทำเกษตรอินทรีย์ แต่นั่นหมายถึงว่าจะต้องบำรุงดินดี ๆ ด้วยสารอินทรีย์
พี่โด่งบอกว่าไม่มีต้นทุนอะไร ก็เลยไม่เครียดกับราคาข้าว จะขายราคาเท่าไหร่ก็ได้ ขายยังไงก็กำไร
กำไรของอรพินฟาร์มคือ ข้าวนี้ปลอดภัย คนปลูกปลอดภัย คนกินปลอดภัย ธรรมชาติก็ปลอดภัยเช่นกัน
ในตอนแรก ๆ มันยากอยู่แล้วนะ พี่โด่งบอกว่า ...
อุปสรรคมีเสมอ ต้องผ่านไปให้ได้
ในเมื่อวิธีเก่ามันมีปัญหา เราก็หาวิธีใหม่มาทดแทน
ผ่านไป 2-3 ปี พี่โด่งกับพี่ปุ้มรู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว มองไปรอบ ๆ ข้าง ก็ยังเห็นพี่น้องชาวนาทำนาแบบเดิม ๆ เป็นหนี้แบบเดิม ๆ
เลยอยากจะบอกเขาว่า หันมาทำเกษตรแบบนี้ดีนะ นึกได้แบบนี้เลยเพิ่งจะได้เข้าไปหาเกษตรอำเภอ
ไปหาเกษตรอำเภอ เพื่อไปบอกว่าพวกเรามีตัวอย่างที่ลองทำแล้วไปได้สวยมาให้ดู 555 (เจ๋งอะ)
เกษตรอำเภอเองก็สนองเลยจ้า เพราะเขาก็มีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์มากมายอยู่แล้ว แล้วก็จัดอบรมต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ
ก็เลยมีทั้งคนมาดูงานที่อรพินฟาร์ม และพี่ ๆ ไปอบรมที่อื่น ๆ
พี่โด่งกับพี่ปุ้มก็เลยได้มีเครือข่าย ได้อยู่ในกรุ๊ปไลน์ ทั้งเอาไว้สอบถามแลกเปลี่ยนความรู้ และยังได้ซื้อขายของ รวมตัวกันเอาของไปขาย ฯลฯ
กลุ่มเกษตรอินทรีย์สำโรง ก็ถือกำเนิดจากชาวบ้านมาดูงานที่ฟาร์ม แล้วตั้งกลุ่มไลน์กันขึ้นมา
เทคโนโลยีมีประโยชน์จริง ๆ ถ้าใช้เป็น
การทำเกษตรแบบนี้ เรื่องการจัดการเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราต้องทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ต้องจัดเวลาให้คุ้มค่า และเราไม่จำเป็นต้องเหนื่อยเกินไป เช่น
ตอนเที่ยง ๆ แดดร้อน ๆ ไม่จำเป็นต้องออกไปเกี่ยวข้าว มีงานในร่มให้ทำเยอะแยะ
ตอนเย็น ๆ ค่อยใส่ไฟฉายที่หัว ออกไปเกี่ยวข้าว
พี่โด่งบอกว่า เกษตรไม่ใช่งานหนัก แต่ต้องขยัน!
เราเหลือบไปมองที่ใกล้ ๆ อรพินฟาร์มก็ยังไม่เห็นเขาจะทำเกษตรผสมผสานกัน แล้วมันเพราะอะไรกันคะพี่โด่ง
พี่โด่งแยกแยะสาเหตุออกมาให้ฟังเป็นฉาก ๆ เลย
- การยึดติดรูปแบบเดิม ๆ ทำตาม ๆ กันมา
- บางทีตัวลูกอาจจะอยากเปลี่ยน แต่พ่อแม่ก็ห้ามไว้ บอกว่าทำนาแบบเดิมน่ะแหละ
- ขาดความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชแบบอื่น
- ไม่กล้าเสี่ยง
- ใช้เทคโนโลยีราคาแพง(เกินไป) แบบตาม ๆ กัน เช่น จ้างรถไถ รถหว่าน
- เห็นคนอื่นทำเกษตรผสมผสานแล้วต้องขยัน เลยคิดว่าตัวเองทำไม่ได้หรอก
อคติทั้งหมดทั้งมวลนี้ จะมีอานุภาพรุนแรงขึ้นไปอีก สำหรับเกษตรกรที่เป็นหนี้
(ในหัวนี่รีบคิดเลยว่าเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมตอบโต้อะไรได้มั่ง!)
พี่โด่งมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ ที่ตอนนี้ทำงานที่อื่นและคิดอยากจะกลับบ้าน
วันนั้นได้ฟังเรื่องราวของพี่ๆ ได้สัมผัสถึงความเมตตา ได้รับพลังของนักปฏิบัติ แล้วก็ยังได้ทานข้าวอร่อย ๆ ฝีมือพี่ปุ้มและพี่วรรณ
ทานข้าวไปเยอะมากกกกก จานใหญ่มากกกก เลยถึงเวลาต้องไปช่วยทำงานในฟาร์ม (หรือป่วนกันแน่)
เราไปขอพี่เขาเกี่ยวข้าวแหละ พี่เขาเลยต้องจำใจไปสอนเกี่ยวข้าวตอนเที่ยง ๆ ร้อนจะตาย 55555
พี่ปุ้มกับพี่โด่งตั้งใจสอนมากนะ เราก็ตั้งใจเรียนนะ แต่มือใหม่อะเนอะ ทำได้ทีละนิด อย่างช้าเลย
คุยนู่นนี่กัน สนุกมาก ทั้ง ๆ ที่ร้อน ถ้าไปตอนค่ำ ๆ คงสบายกว่านี้
พี่ปุ้มเป่าขลุ่ยจากก้านข้าวให้ฟังด้วย
เราขอฝากตัวเป็นนักเรียนกับพี่ๆ อีกรอบ เพราะเราสงสัยว่าทำไมเกษตรกรอีสานยังติดอยู่ในวงเวียนหนี้แบบนี้ และเราขอมาเรียนรู้จากอรพินฟาร์ม เพราะพี่เขาหลุดออกมาได้ด้วยตนเอง
พูดไม่ทันขาดคำ ได้แผลจากต้นข้าวจ้า
พี่ ๆ รีบพาไปอนามัยเพื่อทำแผล ทำให้พี่ ๆ เสียเวลางานอีกนะนี่
เป็นค่าครูให้รู้ว่าต้องเจียมตัวและเตรียมตัวดีกว่านี้ในคราวหน้า ถุงมือและอุปกรณ์อื่น ๆ ต้องพร้อม
ก่อนกลับพี่ปุ้มบอกว่าเวลากลับอุบลมาหาแม่ ก็แวะมาเล่นกับพี่ได้เด้อ
หูย ดีใจจังเลย หนูคิดว่าพี่จะเข็ดกับหนูแล้วซะอีก มาถามอะไรเยอะแยะ กินข้าว กินน้ำ กินแตงโม ไปเกี่ยวข้าวไม่ถึงชั่วโมงก็เป็นแผล แล้วพี่ต้องพาไปอนามัยอีก
หนูขอบคุณพี่โด่งและพี่ปุ้มมาก ๆ ค่ะ
6 ชั่วโมงที่นั่น อาจจะเป็นเวลาสั้น ๆ แต่มันก็นานพอที่หนูจะนับถือใจของพี่ ๆ และหลงรักอรพินฟาร์มได้ค่ะ
ถ้าพี่ไม่เปลี่ยนเบอร์มือถือหนีหนูไป หนูจะไปหาพี่อีกแน่นอน ไว้เจอกันนะคะ